skip to Main Content

ข้อบังคับสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย (ฉบับสมบูรณ์)

หมวดที่ 1 บทความทั่วไป

  • ข้อ 1.ชื่อของสมาคมการค้า สมาคมการค้านี้มี ชื่อว่า “สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย”
    เขียนชื่อเป็นอักษรภาษาอังกฤษว่า “Thai Real Estate Broker Association” เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “ไทย เรียลเอสเตท โบรกเกอร์ แอสโซซิเอชั่น”
  • ข้อ 2. สำนักงานของสมาคม ตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต วิทยาเขตพัฒนาการ อาคาร เกษมสรรค์ ชั้นที่ 3 ห้อง 3310 เลขที่ 1761 ซอยพัฒนาการ 37 ถนนพัฒนาการ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
  • ข้อ 3. ตราของสมาคม มีเครื่องหมายเป็นรูป ดังนี้
  • ข้อ 4. บทนิยาม
    (1) สมาคม หมายความว่า สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย
    (2) สมาชิก หมายความว่า ผู้ประกอบการวิสาหกิจ ที่ประกอบธุรกิจนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ หรือเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่เป็นนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา
    (3) คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการบริหารสมาคม (กส)
    (4) ผู้จัดการ หมายความว่า เป็นเจ้าหน้าที่ ตำแหน่งผู้จัดการสำนักงานสมาคม
    (5) เจ้าหน้าที่ หมายความว่า ลูกจ้าง ผู้ปฎิบัติหน้าที่ มีเงินเดือนประจำ เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานสมาคม และไม่ใช่คณะกรรมการ

หมวดที่ 2 วัตถุประสงค์

  • ข้อ 5.สมาคมนี้มี วัตถุที่ประสงค์ต่อไปนี้
    (1)  ส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจประเภทที่เกี่ยวกับ นายหน้าอสังหาริมทรัพย์
    (2)  สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องต่างๆ รวมทั้งเจรจาทำความตกลงกับบุคคลภายนอกเพื่อประโยชน์ร่วมกันในการประกอบวิสาหกิจของสมาชิก สอดส่องและติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดการค้าอสังหาริมทรัพย์ทั้งภายในและภายนอก เพื่ออำนวยประโยชน์แก่การประกอบธุรกิจการค้า อุตสาหกรรมการเงิน หรือเศรษฐกิจ
    (3)  ประสานความสามัคคีและแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ในทางวิชาการ ข่าวสารการค้า ตลอดจนการวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจนายหน้าอสังหาริมทรัพย์
    (4)  ขอสถิติ หรือเอกสาร หรือขอทราบข้อความใด ๆ จากสมาชิกเกี่ยวกับการดำเนินการธุรกิจนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ดัวยความยินยอมของสมาชิก
    (5)  ส่งเสริมคุณภาพ ธุรกิจนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ที่สมาชิกเป็นผู้แทนจำหน่าย ให้ได้มาตรฐานที่ดี ตลอดจนวิจัยและปรับปรุงระบบนายหน้าให้มีประสิทธิภาพและให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
    (6)  ร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งเสริมพัฒนาการด้านนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ให้อยู่ในมาตรฐานที่ดี สอดคล้องกับนโยบายของทางราชการ
    (7) ทำความตกลงหรือวางระเบียบมาตรฐานการให้บริการและจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจให้สมาชิกปฏิบัติ หรืองดเว้นการปฏิบัติเพื่อให้การประกอบวิสาหกิจของสมาชิกได้ดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย ตลอดจนส่งเสริมให้มีระบบการพิจารณาข้อร้องเรียนทางด้านมารยาทและจรรยาบรรณของสมาชิก พร้อมทั้งมาตรการในการลงโทษผู้ฝ่าฝืน
    (8)  ส่งเสริมพลานามัย กีฬา และจัดงานบันเทิงเป็นครั้งคราว
    (9)  ประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างสมาชิก หรือระหว่างสมาชิกกับบุคคลภายนอกในการประกอบวิสาหกิจ
    (10) ให้ความอนุเคราะห์แก่สมาชิกในด้านสวัสดิการ เท่าที่ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509
    (11) ผดุงเกียรติวิชาชีพนายหน้าอสังหาริมทรัพย์
    (12) ไม่ฝักใฝ่พรรคการเมือง เว้นแต่ ที่ประชุมใหญ่มีมติให้สนับสนุนหรือคัดค้านพรรคการเมือง เรื่องเกี่ยวกับนโยบาย หรือแนวทางปฏิบัติ

หมวดที่ 3 สมาชิก และสมาชิกภาพ

  • ข้อ 6.ประเภทสมาชิก สมาชิกของสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย แบ่งออกเป็น 6 ประเภท และมีคุณสมบัติดังนี้ คือ
    (1)   สมาชิกสามัญ ได้แก่ นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจในการเป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โดยผู้แทนสมาชิกสามัญ ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรวิชาชีพนายหน้าอสังหาริมทรัพย์จากสถาบันที่สมาคมรับรองและสอบผ่านตามเกณฑ์ที่สมาคมกำหนด
    (2)   สมาชิกสมทบ ได้แก่ บุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจในการเป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ในความรับผิดชอบของสมาชิกสามัญ โดยต้องผ่านการอบรมและได้รับการรับรองโดยสมาชิกวุฒิ และสอบผ่านตามเกณฑ์ที่สมาคมกำหนด
    (3)   สมาชิกวิสามัญ ได้แก่บุคคลธรรมดาที่จดทะเบียนพาณิชย์และประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ หรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจอันเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือได้รับอนุมัติ เป็นรายกรณีจากมติข้างมากของคณะกรรมการสมาคมโดยสมาชิกที่เป็นบุคคลธรรมดาจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรวิชาชีพนายหน้าอสังหาริมทรัพย์จากสถาบันที่สมาคมรับรอง และสอบผ่านตามเกณฑ์ที่สมาคมกำหนด
    (4)  สมาชิกวุฒิ ได้แก่ บุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจนายหน้าอสังหาริมทรัพย์และถือบัตรประจำตัวสมาชิกสามัญ หรือสมาชิกวิสามัญติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 ปี มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ จบปริญญาตรี หรือเป็นผู้มีความรู้ความสามารถมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ตามมติคณะกรรมการ และจะต้องผ่านการอบรมและสอบผ่านหลักสูตรระดับสูงจากสถาบันที่สมาคมให้การรับรอง
    (5)  สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่บุคคลธรรมดาซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือเป็นผู้ที่มีอุปการะคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการมีมติให้เข้าเป็นสมาชิก และผู้นั้นตอบรับคำเชิญสมาชิก (1) – (4) และ (6) จะได้รับบัตรประจำตัวสมาชิกเมื่อมีคุณสมบัติและปฎิบัติตามที่คณะกรรมการกำหนด
    (6) สมาชิกประเภทตราสัญญลักษณ์ ที่เรียกว่า “Brand Member of TREBA” ได้แก่นิติบุคคล ที่มี
    (1.) นิติบุคคลที่เป็นสมาชิกสามัญในสังกัด หรือไม่มีก็ได้
    (2.) สมาชิกสมทบ หรือสมาชิกวิสามัญในสังกัดไม่น้อยกว่า 30 คน
  • ข้อ 7.สมาชิกของสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย ตามข้อ 6 จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ คือ
    (1) กรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา
    (ก) เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว
    (ข) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย บุคคลไร้ความสามารถ หรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
    (ค) ไม่เคยต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดซึ่งกระทำโดยประมาท
    (ง) ไม่เป็นโรคอันพึงรังเกียจแก่สังคม
    (จ) เป็นผู้มีฐานะมั่นคงพอสมควร
    (ฉ) เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
    (2) กรณีที่เป็นนิติบุคคล
    (ก) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
    (ข) มีฐานะมั่นคงพอสมควรให้นำข้อ 7 (1) มาใช้บังคับแก่คุณสมบัติของผู้แทนนิติบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลที่เป็นสมาชิกตามช้อ 11 ด้วย
  • ข้อ 8.การสมัครเข้าเป็นสมาชิก ผู้ที่ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมจะต้องยื่นความจำนงต่อเลขาธิการ หรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการตามแบบพิมพ์ที่สมาคมได้กำหนดไว้โดยมีสมาชิกสามัญ
    2 คนหรือสมาชิกวุฒิ 1 คน เป็นผู้รับรอง ส่วนสมาชิกสมทบให้สมาชิกสามัญต้นสังกัดเป็นผู้ดำเนินการให้
  • ข้อ 9. การพิจารณาคำขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก ให้เลขาธิการ หรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการนำใบสมัครเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ พร้อมแจ้งให้ผู้สมัครเข้ารายงานตัวต่อคณะกรรมการในที่ประชุมคราวเดียวกัน เมื่อคณะกรรมการมีมติให้รับหรือไม่รับผู้ใดเข้าเป็นสมาชิก หรือให้ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งให้ผู้สมัครทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลงมติ
  • ข้อ 10. วันเริ่มสมาชิกภาพ สมาชิกภาพเริ่มตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระค่าลงทะเบียนเข้าเป็นสมาชิก และค่าบำรุงประจำปีของสมาคม และคณะกรรมการมีมติรับเป็นสมาชิกเรียบร้อยแล้ว
  • ข้อ 11. สมาชิกสามัญ ต้องแต่งตั้งผู้แทนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา เพื่อทำหน้าที่ใช้สิทธิแทน ได้ไม่เกิน 2 คนโดยยื่นคำขอและเสียค่าบำรุงรายปี และมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้ 1 เสียง
  • ข้อ 12. การขาดจากสมาชิกภาพ สมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดลง ในกรณีดังต่อไปนี้
    (1) ตาย หรือสิ้นสภาพนิติบุคคล
    (2) ขาดคุณสมบัติตามข้อ 7
    (3) ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการมีมติให้ออก
    (4) คณะกรรมการลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนสมาชิกโดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนกรรมการที่มาประชุม ด้วยเหตุกระทำการใดๆ ที่ทำให้สมาคมเสื่อมเสียชื่อเสียงโดยเจตนา หรือ กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับ
    (5) กรณีสมาชิกไม่ชำระเงินค่าบำรุงรายปี ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สมาชิกภาพสิ้นสุด ให้ถือว่าขาดสมาชิกภาพ เว้นแต่สมาชิกผู้นั้นยินยอมชำระค่าปรับตามที่คณะกรรมการกำหนด แต่ไม่เกิน 90 วัน นับแต่วันที่สมาชิกภาพสิ้นสุด
    (6) กรณีสมาชิกสมทบ ออกจากการเป็นนายหน้าภายใต้ความรับผิดชอบของสมาชิกสามัญ
  • ข้อ 13.ทะเบียนสมาชิก ให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนสมาชิกเก็บไว้ ณ สำนักงานของสมาคม โดยอย่างน้อยให้มีรายการดังต่อไปนี้
    (1) ชื่อและสัญชาติของสมาชิก
    (2) ชื่อที่ใช้ในการประกอบวิสาหกิจและประเภทของวิสาหกิจ
    (3) ที่ตั้งสำนักงานของสมาชิก
    (4) วันที่เข้าเป็นสมาชิก

หมวดที่ 4 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

  • ข้อ 14. สิทธิของสมาชิก
    (1) ได้รับความช่วยเหลือและการสงเคราะห์ในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการอันอยู่ในวัตถุประสงค์ของสมาคมจากสมาคมเท่าที่จะอำนวยได้
    (2) เสนอความคิดเห็นหรือให้คำแนะนำต่อสมาคม หรือคณะกรรมการในเรื่องใดๆ อันอยู่ในวัตถุที่ประสงค์ของสมาคม เพื่อนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของสมาคม
    (3) ขอตรวจสอบกิจการและทรัพย์สินของสมาคมได้ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อเลขาธิการ หรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการ
    (4) เข้าร่วมประชุมอภิปรายแสดงความคิดเห็นซักถามกรรมการ เสนอญัตติในการประชุมใหญ่สมาชิก
    (5) มีสิทธิประดับเครื่องหมายของสมาคม
    (6) สมาชิกสามัญ(ผู้แทน)มีสิทธิสมัครเข้าเป็นสมาชิกวุฒิได้ หากมีคุณสมบัติตามข้อ 6(4) และมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่
    (7) สมาชิกวิสามัญ (บุคคลธรรมดา) มีสิทธิสมัครเข้าเป็นสมาชิกวุฒิได้ หากมีคุณสมบัติตามข้อ6(4) โดยสมาชิกวิสามัญมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ เมื่อเป็นสมาชิกครบ 3 ปีติดต่อกัน
    (8) สมาชิกวุฒิ มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ มีสิทธิประดับเครื่องหมายของสมาชิกวุฒิ และมีสิทธิได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการ และหรือนายกสมาคม นอกจากนี้ยังมีสิทธิรับรองผู้สมัครสมาชิกสามัญหรือวิสามัญใหม่และออกหนังสือรับรองผ่านการอบรมให้แก่ผู้สมัครเป็นสมาชิกสมทบได้อีกด้วยสมาชิกวุฒิที่มีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกสมาคมได้ จะต้องเป็นผู้แทนสมาชิกสามัญที่เป็นกรรมการของนิติบุคคลเท่านั้น
    (9) สมาชิกประเภทตราสัญญลักษณ์ ทืี่เรียกว่า “Brand Member of TREBA” มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ และมีสิทธิเป็นสมาชิกวุฒิตามข้อ 14(8)
  • ข้อ 15.หน้าที่สมาชิก
    (1) ต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับจรรยาบรรณ มติคณะกรรมการมติที่ประชุมใหญ่ของสมาคม และมีหน้าที่ดำเนินการใดๆ ซึ่งตนได้รับมอบหมายจากสมาคม ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยเคร่งครัด
    (2) ดำรงรักษาเกียรติและผลประโยชนส่วนได้ส่วนเสียของสมาคมตลอดจนต้องรักษาความลับในที่ประชุม
    (3) ต้องรักษาไว้ซึ่งความสามัคคีระหว่างสมาชิกและปฏิบัติกิจทางการค้าในทำนองช่วยเหลือกันด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
    (4) ชำระค่าบำรุงให้แก่สมาคมตามที่กำหนด
    (5) สมาชิกผู้ใดเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล สัญชาติ ย้ายที่อยู่ ย้ายที่ตั้งสำนักงาน เปลี่ยนแปลงประเภทวิสาหกิจหรือเปลี่ยนผู้แทนนิติบุคคล จะต้องแจ้งให้เลขาธิการทราบเป็นหนังสือภายในกำหนดเวลา 7 วันนับแต่วันที่เปลี่ยนแปลง
    (6) สมาชิกสามัญ มีหน้าที่จัดให้ผู้ร่วมงานประจำทุกคนที่ทำหน้าที่นายหน้าธุรกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ สมัครเข้าเป็นสมาชิกสมทบในเวลาอันสมควร
    (7) สมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน มีสิทธิ์เข้าประชุมกับคณะกรรมการสมาคมในฐานะผู้สังเกตการณ์ตามคำเชิญของนายกสมาคม หรือคณะกรรมการสมาคมฯ
    (8) ต้องรายงานการทำธุรกรรมต่อสำนักงาน ปปง.ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2552

หมวดที่ 5 ค่าลงทะเบียนเข้าเป็นสมาชิก และค่าบำรุงสมาคม

  • ข้อ 16.ค่าลงทะเบียนเข้าเป็นสมาชิกและค่าบำรุงสมาคม
    (1) สมาชิกสามัญจะต้องชำระค่าลงทะเบียน 500 บาท และค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปี ๆ ละ 2,000 บาท
    (2) สมาชิกสมทบจะต้องชำระค่าลงทะเบียน 500 บาท และค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปีๆ ละ 300 บาท
    (3) สมาชิกวิสามัญจะต้องชำระค่าลงทะเบียน 500 บาท และค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปีๆ ละ 1,000 บาท
    (4) สมาชิกวุฒิจะต้องชำระค่าลงทะเบียน 5,000 บาทและค่าบำรุงสมาคมรายปีๆ ละ 5,000บาท
    (5) สมาชิกกิตติมศักดิ์ไม่ต้องชำระค่าลงทะเบียน หรือค่าบำรุงอย่างใดทั้งสิ้น
    (6) สมาชิกประเภทตราสัญญลักษณ์ ทืี่เรียกว่า “Brand Member of TREBA” จะต้องชำระค่าลงทะเบียน 5,000 บาท และค่าบำรุงสมาคมรายปีๆ ละ 15,000 บาท
  • ข้อ 17.ค่าบำรุงพิเศษ สมาคมอาจเรียกเก็บค่าบำรุงพิเศษจำนวนเท่าใดจากสมาชิกได้เป็นครั้งคราว โดยที่ประชุมใหญ่ลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน ที่มาประชุมทั้งหมด

หมวดที่ 6 คณะกรรมการของสมาคม

  • ข้อ 18. ให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเป็นผู้บริหารงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคม และเป็นผู้แทนของสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ประกอบด้วยสมาชิกวุฒิ ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 25 คน
    (1) ในกรณีจำนวนกรรมการไม่ครบ 25 คนตามวรรคแรก ให้นายกสมาคมมีอำนาจแต่งตั้งกรรมการจากสมาชิกวุฒิและหรืออดีตนายกสมาคม (กรรมการกิตติมศักดิ์) เพิ่มอีกได้แต่ไม่เกิน 25 คน
    (2) ให้นายกสมาคม ที่หมดวาระในการดำรงตำแหน่งมีสิทธิเป็นกรรมการที่ปรึกษาหรือกรรมการกิตติมศักดิ์ของสมาคม โดยให้นายกสมาคมคนใหม่แต่งตั้ง ด้วยความเห็นชอบของนายกสมาคมที่หมดวาระกรรมการกิตติมศักดิ์เท่านั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
    (3) การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารให้คณะกรรมการกำหนด วัน เวลา ระเบียบ และวิธีการเลือกตั้ง พร้อมคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และประกาศวันที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี และจัดการเลือกตั้งให้สมาชิกรับทราบไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง
    (4) ให้ที่ประชุมใหญ่แต่งตั้งประธานคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง และให้ประธานฯ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการได้อีกไม่น้อยกว่า 2 คน เพื่อให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ด้วยความเป็นกลาง เป็นธรรม โปร่งใส ตามวิธีการ การเลือกตั้ง และแบบฟอร์มที่สมาคมกำหนด
    (5) ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดตามลำดับ 25 คนแรกเป็นกรรมการ หากผู้ที่ได้รับคะแนนต่ำสุดในลำดับสุดท้ายเท่ากัน ให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติเฉพาะผู้ที่ได้รับคะแนนเท่ากันเท่านั้น แต่หากเท่ากันอีก ให้ใช้วิธีจับสลาก
    (6) หากมีผู้สมัครไม่ถึง 25 คน ให้ถือว่าผู้สมัครทุกคนเป็นกรรมการโดยปริยาย ให้คณะกรรมการที่ได้รับการเลือกตั้ง เลือกกันเองเพื่อดำรงตำแหน่ง นายกสมาคม อุปนายกฯ เลขาธิการ เหรัญญิก นายทะเบียน ปฏิคม ประชาสัมพันธ์ ฝ่ายกฎหมาย และหรือตำแหน่งอื่นๆ ตามความเหมาะสม
    (7) คณะกรรมการของสมาคม อยู่ในตำแหน่งกรรมการได้คราวละ 2 ปี เมื่อพ้นตำแหน่งตามวาระแล้ว อาจได้รับการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกก็ได้
    ทั้งนี้ นายกสมาคม จะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่มีมติด้วยคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเกิน 2 วาระติดต่อกันได้
  • ข้อ 19.การพ้นจากตำแหน่งกรรมการสมาคม กรรมการย่อมพ้นจากตำแหน่งในกรณีดังต่อไปนี้
    (1) ครบกำหนดออกตามวาระ
    (2) ลาออกโดยคณะกรรมการได้ลงมติอนุมัติแล้ว เว้นแต่การลาออกเฉพาะตำแหน่ง
    (3) ขาดจากสมาชิกภาพ
    (4) ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนออกจากการเป็นกรรมการ
    (5) เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งให้ออกตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509
    (6) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509
    (7) ขาดประชุมคณะกรรมการ 2 ครั้ง ติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เว้นแต่จะได้มอบฉันทะให้ผู้แทนเข้าร่วมประชุมแทน และคณะกรรมการมีมติรับรอง โดยให้บันทึกไว้ในรายงานการประชุมด้วย
    (8) กรรมการคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนก่อให้เกิดความเสียหาย หรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ หรือมีพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมอันเป็นที่เสื่อมเสีย หรือเป็นโทษต่อชื่อเสียงเกียรติคุณและผลประโยชน์ของสมาคม สมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนไม่น้อยกว่า 5 คน หรือกรรมการไม่น้อยกว่า 2 คน ร้องขอเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ให้จัดประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณามีมติรับข้อร้องเรียน ด้วยคะแนนเสียงข้างมากของคณะกรรมการที่มาประชุม และมีมติถอดถอนกรรมการดังกล่าว ดัวยคะแนนเสียง 3 ใน 4 ของคณะกรรมการที่มาประชุม และให้คณะกรรมการ มีหน้าที่นำมติดังกล่าวไปจดทะเบียนต่อหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และมีผลนับตั้งแต่การลงมตินั้นเสร็จสิ้น
  • ข้อ 20.กรณีนายกสมาคมพ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดออกตามวาระ ให้คณะกรรมการมีมติเลือกตั้งกรรมการจากสมาชิกวุฒิ (เลือกตั้ง) คนใดคนหนึ่ง ให้เป็นนายกสมาคมฯ แทนได้ โดยถือเป็นการรักษาการตำแหน่งนายกสมาคม จะไม่ถือเป็นการรับตำแหน่งตามวาระ การรับตำแหน่งจะต้องมาจากการเลือกตั้งในที่ประชุมใหญ่เท่านั้น กรณีกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดออกตามวาระ ให้คณะกรรมการมีมติแต่งตั้งกรรมการจากสมาชิกวุฒิ คนใดคนหนึ่งให้เป็นกรรมการแทนได้ กรณีคณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะก่อนครบกำหนดออกตามวาระ ให้คณะกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งนั้นดำเนินการจัดประชุมใหญ่สมาชิก เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ในกรณีนี้ให้นำความในข้อ 25 มาใช้บังคับโดยอนุโลมคณะกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งและหรือแต่งตั้งแล้วแต่กรณี ตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม ให้ดำรงตำแหน่งเท่าวาระที่เหลือของกรรมการซึ่งตนเป็นแทน กรณีไม่มีคนสมัครเลือกตั้งสามารถออกเสียงลงคะแนนด้วยวิธีการชูมือได้
  • ข้อ 21.การประชุมของคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะนับว่าเป็นองค์ประชุม ในกรณีที่มีจำนวนกรรมการในคณะกรรมการน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด กรรมการที่เหลืออยู่ย่อมทำกิจการได้เฉพาะแต่ในเรื่องที่จะตั้งสมาชิกวุฒิ คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นให้ครบจำนวน หรือนัดเรียกประชุมใหญ่หรือกระทำกิจการอันสมควรทุกอย่างเพื่อปกป้องรักษาประโยชน์ของสมาคมเท่านั้น
  • ข้อ 22.มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบังคับไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมมีคะแนนเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
  • ข้อที่ 23.ประธานในที่ประชุม ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ที่ประชุมเลือกอุปนายกผู้อาวุโสตามลำดับปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้าทั้งนายกสมาคมและอุปนายกไม่อยู่ หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะในการประชุมคราวนั้น
  • ข้อ 24.การประชุมคณะกรรมการ ให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อย 3 เดือนต่อครั้ง อนึ่ง ในกรณีจำเป็นนายกสมาคมหรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนหรือกรรมการรวมกันไม่น้อยกว่า 2 คน จะเรียกประชุมพิเศษขึ้นก็ได้
  • ข้อ 25.การเข้ารับหน้าที่ของคณะกรรมการ เมื่อมีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ให้คณะกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งยื่นจดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่ต่อนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัดกรุงเทพมหานครภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้งและส่งมอบหน้าที่ให้คณะกรรมการชุดใหม่ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นายทะเบียนสมาคมการค้าฯ รับจดทะเบียนในกรณีที่นายทะเบียนสมาคมการค้าฯ ยังมิได้รับจดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่ และคณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งยังมิได้ส่งมอบหน้าที่ตามวรรคแรก ให้คณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งนั้น มีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมต่อไป จนกว่านายทะเบียนการค้า
    จะรับจดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่ และคณะกรรมการชุดใหม่นั้นเข้ารับหน้าที่แล้ว การรับมอบหน้าที่ให้กระทำเป็นลายลักษณ์อักษร
  • ข้อ 26.อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ มีดังนี้
    (1) บริหารกิจการและทรัพย์สินของสมาคม ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และข้อบังคับ
    (2) เลือกตั้งกรรมการให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในคณะกรรมการ
    (3) วางระเบียบการในการปฏิบัติงานของสมาคม ให้เป็นไปตามวัตถุที่ประสงค์ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับฉบับนี้
    (4) ว่าจ้าง แต่งตั้ง และถอดถอนที่ปรึกษาของคณะกรรมการ อนุกรรมการ เจ้าหน้าที่และพนักงานทั้งปวง ในการทำกิจการเฉพาะอย่างหรือ พิจารณาเรื่องต่างๆ อันอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ เพื่อให้การดำเนินงาน ของสมาคมเป็นไปโดยเรียบร้อยที่ปรึกษาของคณะกรรมการ และอนุกรรมการดังกล่าวจะแต่งตั้งจากกรรมการหรือสมาชิกของสมาคมหรือบุคคลภายนอกก็ได้
    (5) มีอำนาจในการกำหนดและแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรฐานด้านจรรยาบรรณและวิธีพิจารณาข้อร้องเรียนจรรยาบรรณ โดยมติ 3 ใน 4 ของคณะกรรมการที่มาประชุม และประกาศบังคับใช้เป็นลายลักษณ์อักษร
    (6) มีอำนาจในการแต่งตั้งอนุกรรมการจรรยาบรรณ โดยให้ดำรงตำแหน่งคราวละไม่เกิน 1 ปี เป็นจำนวน 5 คน ด้วยมติคณะกรรมการ รายละเอียดคุณสมบัติและวาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการ
  • ข้อ 27.อำนาจหน้าที่กรรมการตำแหน่งต่างๆ มีดังนี้
    (1) นายกสมาคม มีหน้าที่อำนวยการเพื่อให้การดำเนินการของสมาคมเป็นไปตามข้อบังคับและระเบียบการในการปฏิบัติของสมาคม เป็นผู้แทนของสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกและเป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการตลอดจนในที่ประชุมใหญ่
    (2) อุปนายก มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนายกสมาคม ในกิจการทั้งปวงอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสมาคม และเป็นผู้ทำหน้าที่แทนนายกสมาคม เมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
    (3) เลขาธิการ มีหน้าที่ เป็นผู้ประสานงานแทนนายกสมาคม และหรือคณะกรรมการขับเคลื่อน ให้นโยบายต่างๆ ของสมาคมออกสู่องค์กรภายนอกกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ เก็บรักษาเอกสารต่างๆ บริหาร งานสำนักงานของสมาคม เป็นเลขานุการในที่ประชุมคณะกรรมการและการประชุมใหญ่ ตลอดจนโต้ตอบหนังสือ และปฏิบัติหน้าที่อื่น ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
    (4) เหรัญญิก มีหน้าที่รักษาและจ่ายเงินของสมาคม ทำบัญชีและการเงินของสมาคมตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
    (5) นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนสมาชิก และทะเบียนต่างๆ ของสมาคม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
    (6) ปฏิคม มีหน้าที่จัดสถานที่ประชุม ดูแลต้อนรับตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการ มอบหมาย
    (7) ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เกี่ยวกับการเชิญชวน หาสมาชิก โฆษณากิจการและผลงานด้านต่างๆ ของสมาคม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการจะได้มอบหมาย
    (8) ฝ่ายกฎหมาย มีหน้าที่ ให้คำปรึกษาช่วยเหลือ ด้านกฎหมายแก่สมาชิก ดูแลด้านนิติกรรมสัญญาที่สมาคมต้องกระทำกับบุคคลภายนอก ดูแลการบริหารกิจการของสมาคมให้อยู่ภายใต้ข้อบังคับฉบับนี้
    ภายใต้บังคับแห่งความในหมวดนี้ ให้นำความในหมวดที่ 7 การประชุมใหญ่ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้ง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
  • ข้อ 28.ให้มีผู้จัดการสำนักงานสมาคมเป็นเจ้าหน้าที่ บริหารงานธุรการของสำนักงานภายใต้การควบคุมของเลขาธิการตามคำสั่งนายกฯ และตามมติคณะกรรมการสมาคม

หมวดที่ 7 การประชุมใหญ่

  • ข้อ 29. การประชุมใหญ่ ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมใหญ่สมาชิกอย่างน้อยทุกระยะเวลา 12 เดือน การประชุมเช่นนี้เรียกว่าการประชุมใหญ่สามัญ การประชุมใหญ่คราวอื่นนอกจากการประชุมใหญ่ตามวรรคก่อน เรียกว่าการประชุมใหญ่วิสามัญ
  • ข้อ 30.  กำหนดการประชุมใหญ่
    (1) ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ภายในกำหนด 120 วันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสมาคม เป็นประจำทุก ๆ ปี
    (2) ถ้ามีเหตุใดเหตุหนึ่งซึ่งคณะกรรมการมีมติเห็นสมควร หรือสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือสมาชิกไม่น้อยกว่า 30 คน แสดงความจำนงโดยทำการร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อเลขาธิการหรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการให้คณะกรรมการนัดประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ลงมติ หรือวันที่ได้รับหนังสือ แล้วแต่กรณี
    (3) การประชุมใหญ่สามัญประจำปี สามารถดำเนินการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ตามประกาศพระราชกำหนด ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563
  • ข้อ 31. การส่งหนังสือบอกกล่าวนัดประชุมใหญ่ คณะกรรมการจะต้องส่งหนังสือนัดประชุม โดยระบุ วัน เวลา สถานที่ และระเบียบวาระการประชุมใหญ่ ไปให้สมาชิกทุกคนได้ทราบ โดยส่งจดหมายทางไปรษณีย์ และหรือจดหมายอิเล็คทรอนิก ณ ที่อยู่ในทะเบียน ก่อนกำหนดวันประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า 7 วัน
  • ข้อ 32. องค์ประชุมในการประชุมใหญ่  จะต้องมีสมาชิก ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 30 คน ของจำนวนสมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนทั้งหมดจึงจะถือเป็นองค์ประชุม
  • ข้อ 33.กรณีการประชุมในครั้งแรกสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม หากล่วงพ้นกำหนดเวลานัดไปแล้ว 1 ชั่วโมงยังมีสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม ถ้าการประชุมใหญ่คราวนั้นได้เรียกนัดเพราะสมาชิกร้องขอ ให้ยกเลิกการประชุมใหญ่นั้น ถ้ามิใช่เพราะสมาชิกร้องขอให้เลื่อนการประชุมใหญ่ไป ไม่เกิน 14 วันนับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก และในการประชุมใหญ่คราวหลังนี้จะมีสมาชิกมามากน้อยเพียงใดก็ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุม
  • ข้อ 34.ประธานในที่ประชุม ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุมใหญ่ ถ้านายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อุปนายกผู้มีอาวุโสตามลำดับหน้าที่แทน ถ้าทั้งนายกสมาคมและอุปนายกไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งกรรมการคนหนึ่งคนใดขึ้นเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าไม่มีกรรมการอยู่ในที่ประชุมเลย ก็ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งสมาชิกคนหนึ่งคนใดขึ้นเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น
  • ข้อ 35.วิธีออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ สมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน 1 คน มีคะแนนเสียง 1 เสียง สมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน อาจมอบฉันทะให้ตัวแทนเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนได้ โดยตัวแทนผู้รับมอบฉันทะ จะรับมอบฉันทะเกินกว่า 1 คนมิได้ ในการประชุมใหญ่ใดๆ ข้อมติอันเสนอให้ลงคะแนน ให้ตัดสินด้วยวิธีชูมือหรือวิธีการอื่นใด อันเป็นการเปิดเผยว่าสมาชิกใดลงคะแนนเช่นไร เว้นแต่เมื่อก่อนหรือในเวลาที่แสดงผลแห่งการชูมือนั้น คณะกรรมการเห็นสมควรหรือได้มีสมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนไม่น้อยกว่า 2 คน ติดใจร้องขอให้ลงคะแนนลับ ในกรณีการเลือกตั้งคณะกรรมการให้ใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนน ตามที่คณะกรรมการกำหนด
  • ข้อ 36. มติของที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันจะเป็นการชูมือก็ดี การลงคะแนนลับก็ดี หรือด้วยวิธีการอื่นใดก็ดี ให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมมีคะแนนอีกเสียงหนึ่ง เป็นเสียงชี้ขาด เว้นแต่เป็นการเลือกตั้งคณะกรรมการสมาคม
  • ข้อ  37. กิจการอันพึงกระทำในการประชุมใหญ่ มีดังนี้ :-
    (1) รับรองรายงานการประชุมใหญ่คราวก่อน
    (2) พิจารณารายงานประจำปี แถลงผลการดำเนินกิจการของสมาคมที่ผ่านมาในรอบปี (ถ้ามี)
    (3) พิจารณาอนุมัติงบดุล (ถ้ามี)
    (4) เลือกตั้งคณะกรรมการ (ในปีที่ครบวาระ)
    (5) เลือกตั้งที่ปรึกษาของสมาคมประจำปี ผู้สอบบัญชีของสมาคมประจำปี และกำหนดค่าตอบแทน
    (6) กิจการที่ต้องกระทำโดยอาศัยมติจากที่ประชุมใหญ่
  • ข้อ 38. การจัดทำบันทึกรายงานการประชุม รายงานการประชุมคณะกรรมการ การประชุมใหญ่ และการประชุมอื่นๆ ให้จดบันทึกไว้ทุกครั้ง และต้องเสนอต่อที่ประชุมเพื่อรับรองในครั้งต่อไป และสมาชิกสามารถขอตรวจดูได้ในวันและเวลาทำการ

หมวดที่ 8 การเงิน เงินทุนพิเศษ และการบัญชีของสมาคม

  • ข้อ  39. วันสิ้นปีทางบัญชี ให้ถือเอาวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิ้นปีทางบัญชีของสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์
  • ข้อ  40. การจัดทำงบดุล ให้คณะกรรมการจัดทำงบดุลที่เป็นอยู่ ณ วันสิ้นปีทางบัญชีนั้นแล้วส่งให้ผู้สอบบัญชีไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และผู้สอบบัญชีจะต้องตรวจสอบให้แล้วเสร็จก่อนวันประชุมใหญ่ประจำปีไม่น้อยกว่า 30 วันงบดุลซึ่งผู้สอบบัญชีได้รับรองแล้ว คณะกรรมการต้องดำเนินการเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญ เพื่อพิจารณาอนุมัติภายใน 120 วันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีเมื่อเสนองบดุลให้คณะกรรมการเสนอรายงานประจำปี แถลงผลการดำเนินงานของสมาคมต่อที่ประชุมใหญ่ด้วย ให้สมาคมส่งสำเนารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสมาคมกับงบดุลไปยังนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร ภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการประชุมใหญ่อนึ่งให้เก็บรักษารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสมาคมกับงบดุลไว้ที่สำนักงานของสมาคมเพื่อให้สมาชิกขอตรวจดูได้
  • ข้อ  41. อำนาจของผู้สอบบัญชี ผู้สอบบัญชีมีอำนาจเข้าตรวจสอบสมุดบัญชีและบรรดาเอกสารเกี่ยวกับการเงินของสมาคม และมีสิทธิสอบถามกรรมการตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสมาคมทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชี และเอกสารดังกล่าว ในการนี้กรรมการและเจ้าหน้าที่จะต้องช่วยเหลือ และให้ความสะดวกทุกประการเพื่อการสอบเช่นว่านั้น
  • ข้อ  42. การเก็บรักษาสมุดบัญชีและเอกสารการเงิน จะต้องเก็บรักษาไว้ ณ สำนักงานของสมาคม และให้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของเหรัญญิก
  • ข้อ  43.การเงินของสมาคม เงินสดของสมาคมจะต้องนำฝากไว้ ณ ธนาคารพาณิชย์แห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดซึ่งสมาคมนี้ตั้งอยู่ ในนามของสมาคมโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ให้มีเงินทดรองจ่ายเกี่ยวกับกิจการของสมาคมไม่เกินวงเงิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ในการนี้ เหรัญญิกเป็นผู้รับผิดชอบและเก็บรักษาเงินทดรองจ่ายนั้นการฝากให้เหรัญญิก หรือตามมติคณะกรรมการเป็นผู้นำเงินฝากเข้าบัญชีการถอนเงินจากธนาคาร ให้นายกสมาคมและอุปนายก หรือนายกสมาคมและเหรัญญิกลงนามร่วมกัน พร้อมประทับตราของสมาคม (ถ้ามี)
  • ข้อ 44. การจ่ายเงินของสมาคม ให้นายกสมาคม มีอำนาจสั่งจ่ายเงิน ของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ให้คณะกรรมการ มีอำนาจสั่งจ่ายเงิน ของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนตามวรรคสอง จะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม
  • ข้อ  45. เงินทุนพิเศษ สมาคมอาจหาเงินทุนพิเศษเพื่อมาดำเนินกิจการและส่งเสริความก้าวหน้าของสมาคมได้ โดยการเชื้อเชิญบุคคลภายนอกและสมาชิกร่วมกันบริจาคหรือกระทำการอื่นใด ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรและไม่ขัดต่อกฎหมาย

หมวดที่ 9 การแก้ไขข้อบังคับ การเลิกสมาคม และการชำระบัญชี

  • ข้อ 46. การแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัดทอนหรือเพิ่มเติมข้อบังคับ จะกระทำได้แต่โดยมติของที่ประชุมใหญ่ ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3ของจำนวนสมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนที่มาประชุมทั้งหมด
  • ข้อ 47. การเลิกสมาคม สมาคมนี้อาจเลิกได้ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดดังต่อไปนี้
    (1) เมื่อมีประชุมใหญ่ลงมติให้เลิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนที่มาประชุมทั้งหมด
    (2) เมื่อล้มละลาย
    (3) เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งให้เลิกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ.2509
  • ข้อ  48. การชำระบัญชี เมื่อสมาคมนี้ต้องเลิกไปเพราะเหตุหนึ่งเหตุใดดังกล่าวใน ข้อ 47 การชำระบัญชีของสมาคมให้นำบทบัญญัติแห่งพระราช บัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 มาใช้บังคับในกรณีที่สมาคมต้องเลิกไปตามข้อ47 (1) ให้ที่ประชุมใหญ่คราวนั้นลงมติเลือกตั้งกำหนดตัวผู้ชำระบัญชีเสียด้วย และหากต้องเลิกไปตาม
  • ข้อ 47 (3) ให้กรรมการทุกคนในคณะกรรมการชุดสุดท้ายที่ได้จดทะเบียนเป็นกรรมการต่อนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ชำระบัญชีหากมีทรัพย์สินของสมาคม เหลือจากการชำระบัญชีให้ยกให้แก่นิติบุคคลในประเทศไทยที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกุศลสาธารณะแห่งหนึ่งแห่งใด หรือหลายแห่งตามมติของที่ประชุมใหญ่

บทเฉพาะกาล

  • ข้อ  49. ให้คณะกรรมการซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง ข้อบังคับเป็นคณะกรรมการตามข้อบังคับฉบับนี้ภายใน 3 ปี ให้คณะกรรมการ และนายกสมาคมมาจากสมาชิกสามัญและหรือสมาชิกวุฒิ เว้นแต่ ภายในกำหนดดังกล่าว มีสมาชิกวุฒิไม่น้อยกว่า 25 คน ที่มาของคณะกรรมการ และนายกสมาคมฯ ให้เป็นไปตามข้อบังคับฉบับนี้ หากภายใน 3 ปี มีสมาชิกวุฒิไม่ครบ 25 คน ให้ขยายระยะเวลาตามวรรคสองอีก 3 ปี หากมีสมาชิกวุฒิครบ ตามวรรคสองหรือวรรคสาม ให้คณะกรรมการ (สมาชิกสามัญ) ที่ยังไม่หมดวาระ ดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ
  • ข้อ  50.ให้มีหลักสูตรอบรมระดับสูงสำหรับสมาชิกวุฒิภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน
  • ข้อ  51.ให้สมาชิกวิสามัญที่มีสมาชิกภาพในวันที่นายทะเบียน รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ เป็นสมาชิกวิสามัญตามข้อบังคับฉบับนี้ให้สมาชิกภาพสมาชิกวิสามัญ ตามวรรคหนึ่ง มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ เว้นแต่จะได้ปฎิบัติตาม ข้อ 6 (3)